วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

‘ปตท.’วอนรัฐใหม่ลดประชานิยม หวั่นเออีซีเปิดพลังงานถูกถลุงเละ


หลังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถูกกระแสสังคม ทั้งกลุ่มบุคคลต่าง ๆ กระหน่ำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกำไร พร้อมหยิบข้อมูลกล่าวหา ปตท. ประกอบธุรกิจเอาเปรียบคนไทย ทั้งที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ทำไมต้องจ่ายค่าพลังงานแพง รวมทั้งอีกหลากหลายประเด็นร้อน เช่น การคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้กลับเป็นของหลวงกำลังเป็นที่สนใจ และถูกนำไปขยายต่อในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ 

 

ชี้โดนเจตนาให้ข้อมูลเท็จ 

เรื่องราวข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร žดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดใจชี้แจงหลายข้อสงสัย โดยบิ๊ก ปตท. มองเป้าหมายการถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องว่า ผู้ใหญ่หลายคนเตือนว่าอย่าไปต่อล้อต่อเถียงมาก แรก ๆ ผมก็เฉย ๆ แต่ระยะหลังเริ่มหนักข้อขึ้น ซึ่งน่าสังเกตว่าสิ่งที่โจมตีไม่ใช่เรื่องของ ปตท. โดยเฉพาะประเด็นราคาน้ำมันที่การกำหนดราคาเป็นเรื่องนโยบายรัฐไม่ใช่ ปตท. ซึ่งกลุ่มโจมตีแม้จะรู้ทั้งรู้ แต่ก็โยงมา เลยมองว่าน่าจะมีเจตนาทำให้ ปตท. เสียหาย แต่ที่น่าห่วงคือข้อมูลนั้นถูกต้องเพียงครึ่ง และอีกครึ่งไม่ถูกต้องเสียมากกว่า 

นอกจากนี้ขณะนี้อยู่ในช่วงกระแสปฏิรูปพลังงานซึ่ง คำว่า ปฏิรูปพลังงานŽ ไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้ราคาถูก แต่หมายถึงว่าต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ให้กลไกตลาดทำงาน แต่ก็ต้องดูแลผู้มีรายได้น้อยด้วย ถ้ายึดหลักความถูกต้องทุกอย่างก็จะไม่เกิดปัญหา ทุกวันนี้ราคาพลังงานของไทยถูกบิดเบือน และประชานิยมมากเกินไป เช่น ราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซลในตลาดโลกไม่ต่างกันมาก ต่างกับไทยที่น้ำมันดีเซล ตรึงไว้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท แต่เบนซินกลับสูงถึงลิตรละกว่า 40 บาท รวมทั้งราคาก๊าซแอลพีจี และราคาก๊าซเอ็นจีวี ถูกตรึงไว้ไม่สะท้อนความจริง คนจึงใช้ฟุ่มเฟือย

 

วอนรัฐฯลดประชานิยม 

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่มีประเด็นเดียว คือ ควรทยอยลดประชานิยมและสะท้อนราคาตามจริง เพราะไทยกำลังเข้าสู่การเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) ถ้ายังใช้งบของภาครัฐอุดหนุน หรือให้ ปตท. อุ้มราคาไว้ ต่อไปประเทศในอาเซียน ก็สามารถใช้พลังงานราคาถูกของไทยได้ และไทยก็ต้องใช้งบมหาศาลอุ้มราคาต่อไป เหมือนที่คนกัมพูชาลักลอบมาเติมแก๊สในไทย เพราะไทยถูกกว่าถึง กก. 25.49 บาท

ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า ปตท. ผูกขาดน้ำมัน ที่จริง ปตท. จะขายปลีกในสัดส่วน 80-90% ก็ได้ แต่ก็ไม่ทำ โดยทุกวันนี้ ปตท. มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 39% เท่านั้น ดังนั้นการกล่าวหาควรพูดตามข้อเท็จจริง 

ส่วนที่ระบุว่ามีกำไรสูง อยากให้ดูว่ากำไรสุทธิ 94,700 ล้านบาท ในปี 56  เป็นกำไรจากขายปลีกน้ำมันเพียง 7,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากถ้าเทียบกับประเทศอื่น ปตท. จึงกำลังพิจารณาว่าจะแยกบริษัทน้ำมันออกมาอีกบริษัท เพื่อให้เห็นเลยว่ารายได้-กำไรจากการขายน้ำมันมีเท่าไร

เร่งแยกท่อก๊าซลดถือหุ้นโรงกลั่น 

ขณะที่การกล่าวหาการผูกขาดและไม่คืนท่อก๊าซธรรมชาติให้ประเทศนั้น ปตท. ไม่ได้วางท่อก๊าซฯ คนเดียว บริษัทอื่น ๆ ก็ทำ แต่รัฐ ที่ต้องการให้ ปตท. ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ เพราะการลงทุนทำท่อต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และเรกูเรเตอร์ ก็เป็นคนกำหนดค่าผ่านท่อ ไม่ใช่ ปตท. จะกำหนดได้เองตามใจ

นอกจากนี้ทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็เห็นชอบให้ ปตท. แยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแล้ว เพื่อให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและลดข้อครหา 

ขณะที่การคืนท่อก๊าซฯศาลตัดสินแล้วว่า ปตท.ได้คืนทรัพย์สินทุกอย่างก่อนการแปรรูปให้ภาครัฐหมดแล้ว โดยท่อในทะเลไม่เข้าข่ายที่จะต้องโอน หากใครกล่าวหาเท่ากับว่าละเมิดอำนาจของศาล

สุดท้ายบิ๊ก ปตท. ย้ำว่า หากใครจะกล่าวหาอะไรขอให้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เพราะหากยังบิดเบือนข้อมูลทำให้ประชาชนเข้าใจผิดจนทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยประเทศชาติจะยิ่งได้รับความเสียหาย และ ปตท. ก็อยู่ระหว่างดำเนินการฟ้องร้องกับกลุ่มคนที่เจตนาให้ข้อมูลเท็จจนทำให้ ปตท. เสียหายด้วยเช่นกัน.

ทีมเศรษฐกิจ

เครดิต dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น