วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ดร.สามารถ แฉจุดอันตรายรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์

ดร.สามารถ แฉจุดอันตรายรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์

นำเสนอข่าวโดยทีมงาน Sanook.com

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ระบุว่า ขอโชว์จุดอันตรายบนรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์อีก 3 จุด เพื่อขอให้ รฟท. เร่งทำการแก้ไขซ่อมแซมโดยด่วน

โดยข้อความที่ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ มีใจความว่า ขอแสดงตัวอย่างให้เห็นถึง "จุดอันตราย" บางจุดบนรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่เกิดขึ้นจากการขาดการซ่อมบำรุงรักษาด้วยรูปภาพดังต่อไปนี้

1. รูปที่ 1 แสดงรูผุที่ผิวรางบริเวณทางแยกหรือทางสับหลีกของสถานีหัวหมาก ซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะสภาพรางเสียหายมาก จะทำให้รถไฟฟ้าทรงตัวได้ไม่ดี วิ่งไม่เรียบ ล้อไม่เกาะกับราง และขีดความสามารถในการรับน้ำหนักของรางลดน้อยลง

2. รูปที่ 2 สปริงเหล็กยึดรางบริเวณใกล้ช่วงโค้งของสถานีสถานีลาดกระบังไปสู่สถานีสุวรรณภูมิแตกหักหลายตัว ซึ่งจะทำให้รางเลื่อนหรือขยับตัวได้ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง

ทั้งสองตัวอย่างของความเสียหายนี้อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงาน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจจะร้ายแรงถึงขั้นรถไฟฟ้าตกรางได้ ซึ่งเราทุกคนไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเช่นนี้ขึ้น ลองนึกภาพดูสิครับว่า ถ้ารถไฟฟ้าตกลงมาจากทางยกระดับสูงประมาณ 22 เมตร อะไรจะเกิดขึ้น

หลังจากผมโชว์ "จุดอันตราย" 2 จุด บนแอร์พอร์ตลิงค์ ด้วยรูปภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ส.ค.57 ก็มีเสียงสะท้อนมาจากผู้สนใจบางคนว่า (1) เป็นรูปจริงหรือรูปตกแต่ง (2) ขึ้นไปถ่ายรูปได้อย่างไร และ (3) เป็นรูปเก่าที่ถ่ายไว้นานแล้วหรือไม่ ผมขอตอบสั้น ๆ ว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะสร้างหลักฐานเท็จ เพราะผมทำเรื่องนี้ด้วยความห่วงใยในความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงานของแอร์พอร์ตลิงค์ อีกทั้ง ผมต้องการให้บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการให้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าและทันสมัย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสำคัญของระบบราง

วันนี้ (18 สิงหาคม 2557) ผมขอโชว์ "จุดอันตราย" อีก 3 จุด เพื่อให้ รฟท. เร่งแก้ไขโดยด่วน ดังนี้

1. จุดที่ 1 (ดูรูปที่ 1) รอยสึกที่หัวราง (ส่วนที่สัมผัสกับล้อ) ที่ทางสับหลีกของสถานีหัวหมาก รอยสึกเหล่านี้ถูกละเลย ไม่ทำการเจียรตั้งแต่แรก ทำให้รอยสึกเพิ่มขึ้น จนอาจถึงขั้นแตกหักได้ในเวลาไม่นาน

2. จุดที่ 2 (ดูรูปที่ 2) รอยแตกแนวขวางใกล้ช่วงโค้งของสถานีลาดกระบังไปสู่สถานีสุวรรณภูมิ

ต้องตรวจสอบรอยแตกเหล่านี้ทุกสัปดาห์ หากพบว่ามีรอยแตกลึกเกิน 10 มิลลิเมตร หรือแตกเป็นแนวตามขวางของรางมีความยาวเกิน 2 ใน 3 ของหัวราง (ส่วนที่สัมผัสกับล้อ) จะต้องเปลี่ยนราง การตรวจสอบรอยแตกทำได้โดยฉีดสเปรย์น้ำยาแทรกซึมสีแดงลงบนบริเวณรางที่ต้องการตรวจสอบ แล้วรอให้น้ำยาซึมลงบนผิวรางประมาณ 2-3 นาที ต่อจากนั้นให้ล้างคราบสีแดงบนผิวรางออกด้วยน้ำยาทำความสะอาด เมื่อผิวรางสะอาดเรียบร้อยแล้ว ให้ฉีดสเปรย์ Developer (สีขาว) แล้วตรวจสอบหาข้อบกพร่องของผิวราง หากมีรอยแตกที่ผิวรางจะปรากฏให้เห็นเป็นรอยสีแดงอย่างชัดเจน ดังที่เห็นในรูปที่ 2

3. จุดที่ 3 (ดูรูปที่ 3) แผ่นยางรองเหล็กประกับรางหลุด บริเวณสถานีลาดกระบัง เมื่อรถไฟฟ้าวิ่งผ่านที่จุดนี้ รางจะรับแรงมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้แตกหักได้ง่ายกว่าจุดที่แผ่นยางรองเหล็กประกับรางไม่หลุด

ได้อ่านรายละเอียดเช่นนี้แล้ว ผมเข้าใจว่าเราทุกคนอยากให้ รฟท. เร่งทำการแก้ไขใช่ไหมครับ

 

เครดิต news.sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น